8,325 view

ความสัมพันธ์ไทย - อิสราเอล

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและรัฐอิสราเอล

ผู้แทนคนแรกของประเทศอิสราเอลในประเทศไทยคือ นายแพทย์เปเรซ จาคอบสัน ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ พ.ศ. 2496 โดยให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวอิสราเอลราว 200 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 และมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2501 โดยมีนายมอร์เดคาย คิดรอน เป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลคนแรกประจำประเทศไทย จากนั้นได้มีการเปิดสำนักงานทูตพานิชย์ในอิสราเอลในปี 2531และเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539  ดร.รณรงค์ นพคุณ ยื่นพระราชสารตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำอิสราเอลแก่ประธานาธิบดีเอเซอร์ ไวซ์แมนน์

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้บันทึกการเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา บุคคลสำคัญจากอิสราเอลที่มาเยือนประเทศไทยรวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอล นายยิตซัก ราบิน  และผู้นำซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศ นายอับบา อีบัน นางโกลดา เมียร์ นายโมเช ดายัน และนายชิมอน เปเรส

การก่อตั้งหอการค้าไทย-อิสราเอล เมื่อ พ.ศ. 2533 ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจเป็นเวลากว่า 10 ปี และขยายอัตราการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างปี 2533-2539 จาก 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 500 ล้านดอลลาร์ หลังจากการเยือนประเทศของรัฐมนตรีต่างประเทศนายชิมอน เปเรส ในปี 2536 ข้อตกลงทางการบินก็มีผลบังคับใช้  โดยสายการบินอิสราเอล “แอล อัล” เริ่มบริการเที่ยวบินมายังประเทศไทยอันเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลจำนวนมากเดินทางมายังประเทศไทย  ประกอบกับที่ได้รับข้อยกเว้นในการทำวีซ่าเข้าประเทศด้วย นอกจากนี้ตั้งแต่พ.ศ 2537 เป็นต้นมา อัตราของผู้ใช้แรงงานไทยในอิสราเอลเพิ่มขึ้นทุกปี  ปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ราว ๆ 30,000 คนในภาคการเกษตร

โครงการความร่วมมือระหว่างไทย-อิสราเอล ได้แก่ โครงการความร่วมมือทาง ด้านการเกษตรซึ่งอิสราเอลร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนของ “มาชาฟ” (MASHAV) หรือศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศของอิสราเอล เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2512 ผู้เชี่ยวชาญไทยที่เข้าร่วมหลักสูตรมาชาฟที่อิสราเอลมีสองสาขาหลัก คือ ด้านการเกษตรและการศึกษา โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาของเด็กปฐมวัย โดยมีหม่อมหลวงอนงค์ นิลอุบลและหม่อมดุษฎี บริพัตร เป็นผู้จัดทำหลักสูตร หนึ่งในโครงการที่โดดเด่นคือ แปลงสาธิตการเกษตรไทย-อิสราเอลสำหรับพืชมูลค่าสูง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นกับรัฐบาลอิสราเอล โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เปิดโครงการแปลงสาธิตการเกษตร เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2547

เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟคนปัจจุบันคือ นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือนางออร์นา ซากิฟ (Orna Sagiv) ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2565 ไทยและอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมืออันดีต่อกัน และมีกรอบการหารือทวิภาคีในลักษณะ Working Group Dialogue ในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศประจำทุกปี โดยล่าสุด ได้มีการประชุม Working Group Dialogue ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

ความตกลงระหว่างไทยกับอิสราเอล

ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว

2.1 ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราของผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2503)

2.2 ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2511)

2.3 อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2539)

2.4 สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2540)

2.5 ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (ลงนามเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543)

2.6 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำแปลงสาธิตการเกษตรไทย-อิสราเอลสำหรับการปลูกพืชมูลค่าสูงแบบอาศัยชลประทานบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ลงนามเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545)

2.7 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาวัฒนธรรมและการศึกษา (ลงนามเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548)

2.8 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไทยกับสภาการอุดมศึกษาอิสราเอล (ลงนามเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550)

2.9 ความตกลงระหว่างรัฐว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรของอิสราเอล (ลงนามเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553) 

2.10 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และ Rambam Health Care Campus (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ลงพระนามระหว่างการเสด็จเยือนอิสราเอลระหว่างเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2554)

2.11 ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ณ นครเยรูซาเล็ม โดย รมช. พณ.)

2.12 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรักษาความลับทั่วไประหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงกลาโหมอิสราเอล (ลงนามเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555  โดยกระทรวงกลาโหม)

2.13 ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลว่าด้วยการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล (ลงนามเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ กับนาย Gabi Ashkenazi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล)

2.14 พิธีสารระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลว่าด้วยการแก้ไขความตกลงระหว่างระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งรัฐอิสราเอลว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป ฉบับลงนามย่อ (ลงนามเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ กับนาย Gabi Ashkenazi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล)

2.15 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (ลงนามเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 โดยเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในนามของสำนักงานไซเบอร์แห่งชาติอิสราเอล และ พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติของประเทศไทย) 

ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดทำ

2.16 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าและแรงงานอิสราเอล

2.17 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเกษตรกรรมระหว่างไทยกับอิสราเอล