วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
ที่สุดแล้ว มั่นใจว่าเกษตรอินทรีย์คือคำตอบของความสำเร็จในอาชีพเกษตรกร:นายเมธี บุญรักษ์ เกษตรกรชาวอำเภอสุไหงโก-ลก 1 เดียวของประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน GAP มาตรฐาน GI และเกษตรอินทรีย์
จากอาชีพในตำแหน่งชำนาญการเครื่องกลหนักที่ประเทศมาเลเซีย ที่มีรายได้มากมาย แต่เพราะต้องแลกมากับการอยู่ห่างจากครอบครัวอันเป็นที่รัก นายเมธี บุญรักษ์ จึงตัดสินใจทิ้งสิ่งเหล่านี้เพื่อกลับมาประเทศไทย และเลือกที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัวบนพื้นที่ดิน 10 ไร่มรดกของครอบครัว ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และวันนี้ทีมงานชีวิตดี๊ดีที่ชายแดนใต้ จะพาไปติดตามเรื่องราวของเขาค่ะ
จุดเริ่มต้นจาก “ศูนย์” ที่หวังเพียงรายได้จากการปลูกลองกองที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น จึงซื้อทั้งหนังสือ และเรียนรู้จากหน่วยงานราชการที่มักแนะนำให้ทำเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการปลูกและดูแล แต่สิ่งที่ตนเองต้องการ คือ “อยากปลูกแต่ไม่ต้องดูแล” เพราะก่อนที่จะผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ยังไม่ลาออกจากงานเดิม จึงเริ่มทดลองบุกเบิกพื้นที่ส่วนที่เหลือโดยใช้วิธีธรรมชาติ ด้วยการเริ่มปลูกป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ สิ่งที่ได้ใน2ปีต่อมา คือ ผลผลิตเติบโตช้าแต่รอด ปลูก100ต้น ตาย1 ต้น ในขณะที่การปลูกแบบใช้สารเคมีทำให้ ลองกอง 50 ต้น ตาย20 ต้น
ปี 2546 จึงตัดสินใจลาออก แล้วมาทำอาชีพเกษตรกรเต็มตัว โดยเริ่มจากการปิดตำรา ปิดช่องทางการรับรู้ข้อมูลจากทุกหน่วยงาน แล้วใช้หลักคิดของตนเอง ประกอบกับได้ชมพระราชกรณียกิจและพระราชดำรัสด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีรูปแบบที่คล้ายกันกับที่ตนทำอยู่ คือการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง และการพึ่งพาธรรมชาติของแปลงเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนไม่ให้ยึดติดกับตำรา และไม่ต้องทำตามแบบของพระองค์ท่าน แต่ให้นำมาประยุกต์ใช้กับตนเองอย่างเหมาะสม
จึงเป็นที่มาของการใช้ปัจจัยทางธรรมชาติ 3 อย่าง คือ ดิน น้ำ ป่า ด้วยการปลูกหญ้าแฝกบำรุงดิน ขุดร่องคูระบายน้ำ บ่อขนมครก และสร้างฝาย สร้างพื้นที่ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก สร้างวนเกษตรด้วยป่า 3 อย่าง ชั้นที่ 1 ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่นไม้มะค่า พยุง พะยอม ยางนา สักทอง ชั้นที่ 2 ปลูกไม้ใช้สอย เช่นสะเดาช้าง ชั้นที่ 3 ปลูกไม้กินได้ มังคุด ลองกอง ผักหวานป่า และกาแฟ ด้วยกฎของเกษตรอินทรีย์ ที่แบ่งเป็น 4 ระดับ คือการปฏิบัติในแปลง การป้องกันการปนเปื้อน ปัจจัยการผลิต หลังการเก็บเกี่ยว ที่ปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอน ซึ่งการรวมกันของ เกษตรธรรมชาติ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ที่นำมาใช้ด้วยการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง นายเมธีเรียกว่า “เกษตรเมธี” ที่ทำให้เป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ได้รับ 3 สุดยอดด้านการเกษตร คือ ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือ GAP ได้รับมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือGI และ การได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรอินทรีย์
นายเมธียืนยันว่าการทำเกษตรอินทรีย์ไม่มีอะไรยาก หากปรับทัศนคติ พร้อมเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ และจากการประกาศยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตที่ออกมานั้น จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ดี เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะแนวทางของเกษตรอินทรีย์ สามารถใช้วิธีการทางธรรมชาติมาทดแทนสารเคมีที่กำจัดศัตรูพืชเหล่านี้แบบเห็นผล100 เปอร์เซ็นต์ เช่น การฆ่าหญ้าในที่ร่มก็เพียงใช้พลาสติกคลุมเพื่อควบคุมความชื้น ในป่ามีใบไม้ ต้นไม้ผลัดใบก็หล่นลงมาคลุมหญ้า หญ้าไม่เจอแสงแดดก็ตายไปกลายเป็นปุ๋ย ส่วนที่งอกก็เพียงแค่ถอนออก หากเป็นในที่แจ้งก็ปลูกหญ้าแฝกคลุมดิน ซึ่งหญ้าแฝกต่อพุ่มสามารถคลุมปิดหญ้าในรัศมี 2 เมตรจากกึ่งกลาง หญ้าอยู่ใต้พุ่มแฝกไม่เจอแสง หญ้าก็ตาย ส่วนกลุ่มวัชพืชและเชื้อราต่างๆ สามารถใช้น้ำหมักจากจุลินทรีย์ธรรมชาติมาใช้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จได้เลย
วันนี้ความสุขของนายเมธี บุญรักษ์ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรปราดเปรื่อง Smart Farmer ปี 2561 คือ การทำเกษตรอินทรีย์บนเนื้อที่10 ไร่ ด้วยคนเพียงคนเดียวในวัย 60ปี ที่ปราศจากเครื่องยนต์ เครื่องจักร และสารเคมีทุกชนิด กับรายรับ 180,000 บาทต่อปีที่แทบจะไม่มีรายจ่ายใดๆ เกิดขึ้น
และปีนี้ ชื่อนายเมธี บุญรักษ์ เกษตรกรชาวสวนจากอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จะเป็นเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ
ผู้ที่สนใจสามารถมาเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อำเภอสุไหงโก-ลก(ศพก.อ.สุไหงโก-ลก) ชุมชนโต๊ะลือเบ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ผ่านนายเมธี บุญรักษ์ โดยตรง โทร.087-9682944
กุศลิน สุวรรณโณ /สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สุไหงโก-ลก (สวท.สุไหงโก-ลก) รายงาน
รูปภาพประกอบ
เวลาทำการ : วันจันทร์ - วันพฤหัสบดี 09.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 17.00 น.
วันศุกร์ 09.00 - 12.00 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)